การรวมกันซื้อ (Group or Collaborative Purchasing)

การรวมกันซื้อ (Group or Collaborative Purchasing)

การรวมกันซื้อ (Group or Collaborative Purchasing)

เรียบเรียงโดย: ดร.นันท์ บุญฉัตร ตำแหนน่ง วิศวกรโลหการชำนาญการ สำนักโลจิสติกส์

ที่มาจาก: Forum Logistics ปีที่ 5 ฉบับที่ 22 พฤษภาคม-มิถุนายน 2557

> Cheaper by The Dozen หรือ เหมาโหลถูกกว่าเป็นคำหรือแนวคิดที่สามารถเข้าใจได้อย่างทันที สำหรับการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ในมุมมองของผู้ผลิตนั้น แนวคิดที่ใกล้เคียงได้แก่ Economy of Scale ซึ่งคือการที่ราคาต้นทุนต่อหน่วยลดลงตามปริมาณที่ผลิตนั่นเอง

หลายครั้งที่ผู้ซื้อหรือผู้ประกอบการ ซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าแบบ เหมาโหลถูกกว่าหรือ ซื้อตาม Minimum Lot Size ที่ผู้ขายกำหนดเพื่อให้ได้ส่วนลด ซึ่งแม้ว่าจะสามารถประหยัดต้นทุนวัตถุดิบได้ แต่อาจมีต้นทุนแฝงเกิดขึ้น ได้แก่ ต้นทุนจมที่เสียไปกับการจัดเก็บวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้ นั่นก็คือต้นทุนสินค้าคงคลังนั่นเอง หากทำการเปรียบเทียบต้นทุนทั้งหมดในภาพรวม (Total Cost of Ownership) ผู้ประกอบการอาจจะพบว่าการซื้อปริมาณน้อยๆ ในราคาแพงขึ้นอาจคุ้มกว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วย แนวคิดในการรวมกันซื้อ (Group or Collaborative Purchasing)

การรวมกันซื้อ คือ การที่องค์กร 2 แห่งขึ้นไปร่วมมือกัน เพื่อรวมความต้องการสั่งซื้อวัตถุดิบ สินค้า หรือบริการ ของแต่ละรายเข้าด้วยกัน เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกกว่า ได้รับบริการและเทคโนโลยีที่ดีกว่าการสั่งซื้อเองเพียงรายเดียว โดยดำเนินการกันเองผ่านเครื่องมือสารสนเทศ หรือดำเนินการผ่านคนกลางก็ได้

การรวมกันซื้อเป็นเทคนิคที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ที่มีอำนาจการต่อรองต่ำ เช่น ผู้ที่ต้องการซื้อในปริมาณไม่มาก หรือมีปริมาณการใช้ไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น ในต่างประเทศ แนวคิดนี้แพร่หลายทั้งในผู้ผลิตรายเล็ก หรือผู้ค้าปลีกรายย่อย ไปจนถึงผู้บริโภคทั่วไป โดยมีการรวมกลุ่มหรือจัดตั้งเป็นสมาคมขึ้น

ในธุรกิจสุขภาพ (Healthcare Industries) การรวมกันซื้อประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งซัพพลายเชนครอบคลุม โรงพยาบาล อุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ และบริการอื่นๆ ตั้งแต่การผลิตอาหารไปจนถึงการซักรีด แต่ศักยภาพหลัก (Core Competency) ของธุรกิจในกลุ่มนี้ คือ การรักษาผู้ป่วย ดังนั้น กิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ ก็ควร Outsource ให้บุคคลที่สามดำเนินการแทน โดยบริษัทเหล่านี้เรียกว่า Group Purchasing Organization (GPO)

จากการสำรวจกลุ่มเครือข่ายที่รวมกันซื้อ (ไม่รวมกลุ่มธุรกิจสุขภาพ) จำนวน 13 กลุ่ม ในปี 1996 ในสหรัฐอเมริกา โดย Center for Advanced Purchasing Studies (CAPS) มหาวิทยาลัย Arizona State พบว่า โดยเฉลี่ย GPO หนึ่งแห่งสามารถลดต้นทุนได้ 13.43% มีผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) สูงถึง 767% ส่วนในธุรกิจสุขภาพพบว่า สามารถประหยัดต้นทุนได้กว่า 12,800 ถึง 19,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 10-15% ของต้นทุนการจัดซื้อทั้งหมด

ประโยชน์ของการรวมกันซื้อ

ในแง่ผู้ซื้อ

  1. เพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ผู้ประกอบการในเครือข่าย
  2. ลดต้นทุนต่อหน่วยจากการซื้อปริมาณมาก (Economy of Scale)
  3. ขยายช่องทางการซื้อ และยกระดับขีดความสามารถในการจัดซื้อให้สูงขึ้น
  4. ลดจำนวนการสื่อสารและการจัดการคำสั่งต่างๆ (Transaction) ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
  5. สร้างความสัมพันธ์และเสริมความเข้มแข็งระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย และสมาชิกในเครือข่าย

ในแง่ผู้ขาย

  1. ได้ Economy of Scale ในการผลิตเพิ่มขึ้น (จากปริมาณการสั่งซื้อรวม)
  2. บริหารจัดการแผนการผลิตได้ง่ายขึ้น เนื่องจากจำนวนออร์เดอร์เล็กๆลดลง
  3. โอกาสในการขยายตลาดสูงขึ้น

อุปสรรคและข้อจำกัด

  1. ขาดความร่วมมือและความเชื่อใจระหว่างผู้ประกอบการในเครือข่าย
  2. ขาดมาตรฐานของสินค้าและกระบวนการ อาจก่อให้เกิดความซับซ้อนในการทำงานเพิ่มขึ้น
  3. การต่อต้านความเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานของพนักงาน
  4. ความแตกต่างด้านพื้นที่ หรือระยะทางระหว่างผู้ประกอบการในเครือข่าย
  5. ผู้ประกอบการอาจขาดความยืดหยุ่น และขาดอำนาจควบคุมในคำสั่งซื้อนั้นๆ

ในการเริ่มต้น ผู้ประกอบการควรเริ่มจากสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่ำ หรือสินค้ามาตรฐาน และร่วมมือกับคู่ค้าที่เป็นพันธมิตรก่อน โดยอาศัยความมุ่งมั่นและความตั้งใจของผู้บริหาร การแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม เป็นปัจจัยในการผลักดันให้แนวคิดนี้สำเร็จ

ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ต้องอาศัยความรวดเร็วและความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเห็นว่ามีธุรกิจที่ใช้ประโยชน์มากมายจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การขายสินค้าออนไลน์ ระบบ Call Center เป็นต้น ตัวอย่างระบบการรวมซื้อรวมขายออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ Groupon หรือ Ensogo ในแต่ละวันเว็บไซต์เหล่านี้จะเสนอขายสินค้าหรือบริการในราคาพิเศษแก่สมาชิก หากมีผู้สนใจแจ้งความจำนงว่าต้องการซื้อในจำนวนที่มากพอที่ผู้ขายกำหนดไว้ สมาชิกจะได้รับคูปองเพื่อซื้อสินค้านั้นในราคาพิเศษ แต่หากมีผู้สนใจไม่เพียงพอ ข้อเสนอนั้นจะเป็นอันยกเลิกไปและไม่เกิดผลทางการเงิน นับเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย กล่าวคือ ผู้ซื้อรายเล็กได้สินค้าและบริการที่ถูกลง ในขณะที่ผู้ขายได้ขายสินค้าเพิ่มขึ้น

และด้วยแนวคิดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เอง เป็นที่มาของการริเริ่มโครงการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์สำหรับการใช้งานเหล็กและวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย ที่ประกอบไปด้วยผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ใช้วัสดุก่อสร้างหรือผู้รับเหมา ที่มักเป็น SMEs โดยการสร้างศูนย์กลางเพื่อเป็นช่องทางในการรวมซื้อรวมขายระหว่างกัน เริ่มจากสินค้าและวัสดุก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานทั่วไป เช่น ปูน เหล็กเส้น อิฐบล็อก โดยให้สมาชิกสามารถสร้างข้อเสนอของตนเองเพื่อรวมกลุ่มซื้อหรือขายได้

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ต้องการซื้อเหล็กเส้นในราคาถูก (กว่า) แต่ต้องการซื้อเพียง 20 เส้นแล้วละก็ ท่านก็สามารถหาเพื่อนร่วมซื้อได้ และในทางกลับกันหากท่านเป็นผู้ขายที่ต้องการปล่อยของค้างสต็อกที่เหลืออยู่ ท่านก็สามารถหาเพื่อนร่วมขายได้เช่นกัน